จังหวัดอำนาจเจริญ เจ้าภาพผู้ไทโลก ครั้งที่ 11 จัดงานยิ่งใหญ่ ต้อนรับพี่น้องชาวผู้ไท จากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, ผู้ไทเซโปนแห่งประเทศ สปป.ลาว, และชุมชนคนผู้ไท 11 จังหวัดภาคอีสาน “เปิดประตูบ้าน” ประสานนโยบายรัฐส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน สานสัมพันธ์แนบแน่นด้วยวัฒนธรรมและประเพณีวิถีถิ่นผู้ไทโบราณ
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562,
นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ มอบหมายให้ นายธนูสินธ์ุ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ผู้ไทโลก ครั้งที่ 11 “บุญเดือนสาม ไขประตูเล้า เว้าผู้ไท ไปกินดอง” ณ หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไท-คำเดือย อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายวันชัย เกตุแก้ว นายอำเภอชานุมาน นางวาสนา ไชยพรรณา วัฒนธรรมจังหวัด, ผู้แทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด, หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่, นายวิทยา อินาลา นายกสมาคมผู้ไทโลก, นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายเชษฐา ไชยสัตย์ รองประธานสมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการจัดงานฯ ร่วมให้การต้อนรับท่านกงสุลใหญ่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น, ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทจากประเทศเวียดนาม และชาวผู้ไทจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
นายธนูสินธ์ุ ไชยสิริ ได้กล่าวว่า บรรพบุรุษชาวภูไท หรือ ผู้ไท ในถิ่นนี้ ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินและสร้างฐานะมั่นคงอยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ เชื่อถือคำสอนของบรรพบุรุษซึ่งยึดโยงความเชื่อทางไสยศาสตร์มีผีบ้านผีปู่ตา คอยปกปักรักษาลูกหลาน
การจัดงานครั้งนี้เป็นการรวมเอาตัวแทนคนผู้ไท ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร, นครพนม, หนองคาย, บึงกาฬ, สกลนคร, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ยโสธร และอำนาจเจริญ (เจ้าภาพ) โดยต้องขอบคุณในความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมจัดงานครั้งสำคัญและการเป็นเจ้าบ้านที่ดียิ่ง
ทางด้าน นายอำเภอชานุมาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานประเพณีไขประตูเล้า ถือเป็นประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญ เชิญขวัญข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉาง เป็นการสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่กับวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอำนาจเจริญเป็นเมืองธรรมเกษตร การจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเพณีโบราณที่หาชมได้ยาก ทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมืออย่างดีจากประชาชนในอำเภอชานุมาน, องค์การบริหารส่วนตำบลคำเขื่อนแก้ว (สนับสนุนงบประมาณ 1 ล้านบาท), สภาวัฒนธรรมฯ และทุกภาคส่วนในพื้นที่
นางวาสนา ไชยพรรณา วัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ ได้กล่าวเสริมเพิ่มเติมว่า ชาวผู้ไทในพื้นที่ได้ย้ายเข้ามานานกว่า 200 ปีแล้ว ตั้งบ้านเรือนทำมาหากินและสร้างฐานะมั่นคงอยู่ในเขตจังหวัดอำนาจเจริญ มีทั้งหมด 3 ตำบลประกอบด้วยตำบลคำโพน อำเภอปทุมราชวงศา ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม และตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน หากนับรวมเป็นหมู่บ้าน จะมีทั้งหมด 32 หมู่บ้าน หรือประชากรชาวผู้ไทประมาณ 24,000 คน ทุกหมู่บ้านยังคงดำเนินชีวิตแบบผู้ไท เชื่อถือคำสอนของบรรพชนซึ่งยึดโยงความเชื่อทางไสยศาสตร์ มีผีบ้านผีปู่ตา คอยปกปักรักษาลูกหลาน โดยมีภาษาผู้ไทที่สื่อสารกันเป็นกาลเฉพาะของชาวผู้ไท ส่วนอักษรโบราณ (ภาษาเขียน) ยังมีปรากฎในแถบประเทศเวียดนาม, การจัดงานจะมีกิจกรรมที่บูชาข้าว คือ งานไขประตูเล้า (ฉางข้าว) เผ่าผู้ไท ทุกปีในวันแรม 3 ค่ำเดือนสาม
นายเชษฐา ไชยสัตย์ รองประธานสมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่มาร่วมงานได้แสดงความประทับใจ โดยกล่าวชื่นชมที่ชนชาวผู้ไท ได้หลอมรวมใจสืบสานจัดงานผู้ไทโลกขึ้นต่อเนื่องหมุนเวียนไปทุกปี สภาวัฒนธรรม, คณะสงฆ์ในพื้นที่ ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชน มีความเข้มแข็งในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น เกิด ความผูกพัน ความรักความสามัคคี และเอื้ออาทรต่อกัน โดยผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า, งานผู้ไทโลก ครั้งที่ 11 สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ประการสำคัญ คือ ภาพของพี่น้องชาวผู้ไทหลายพันคนในวันนี้ นับเป็นการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างชัดเจน เหล่านี้เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ ชุมชนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมนโยบายแห่งรัฐด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน
“ชาวผู้ไท” หรือ “ภูไท” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 4,000 ปี ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เดิมคือชาวไทดำ และไทขาว ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแคว้นสิบสองจุไทในอดีตเดินทางโยกย้ายถิ่นฐานไปมาในประเทศไทย ลาวเหนือ ลาวกลาง เวียดนาม เดียนเบียนฟู บางส่วนก็เดินทางไปถึงจีนสุดอ่าวตังเกี๋ย ก่อเกิดชาติพันธุ์ที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์พรมแดนเอเชียเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งเป็นกลุ่มชนเดียวกันกับชาวผู้ไท
Cr. องค์การบริหารส่วนตำบลคำเขื่อนแก้ว, อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และสมาพันธ์มัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพ